Changes after hair transplant

หลังผ่าตัดสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามลำดับมีดังนี้  (FUE หรือ FUT)​
วันที่ 1-2
หลังผ่าตัดเราจะนัดเข้ามาล้างแผล FUE อาจมีอาการแสบแผลที่ด้านหลังบ้างเมื่อโดนน้ำเล็กน้อย ส่วนด้านบนที่ปลูกจะไม่เจ็บเลย อาจมีสะเก็ดเลือด คราบเลือดเก่าๆ ติดอยู่ สามารถล้างออกได้แต่ต้องระวังไม่ให้กราฟท์หลุด แนะนำให้ใช้แชมพูออร์กานิก หรือ แชมพูเด็กอ่อนๆ สำหรับ FUT จะเจ็บแผลที่ผ่าตัดด้านหลัง แนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดตามเวลา

วันที่ 3-7
สะเก็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสะเก็ดน้ำเหลือง สีออกเหลืองหรือเทาๆ หากในช่วง 1-4 วันแรกไม่ค่อยได้ล้างแผลจะมีสะเก็ดแข็งแน่น #อย่าตกใจ ให้ใช้น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ชะโลมทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วค่อยๆ ล้างด้วยแชมพู ถึงแม้ไม่ออกในครั้งเดียวก็ไม่เป็นไร ให้พอกน้ำมันมะกอกทุกวันไปจนกว่าสะเก็ดแข็งๆ จะหมด ถ้าทำความสะอาดได้ดีจะเห็นแต่ตอผมยาวประมาณ 2-3 มม. สำหรับแผล FUT ต้องตัดไหมช่วงนี้

วันที่ 7-14
จะเริ่มเห็นตอผมหลุดออกมา เป็นเส้นเล็กๆยาวประมาณ 3-4 มม. #อย่าตกใจ เพราะนี่คือระยะที่ผมจะผลัดรากที่ฝังตัวอยู่ใต้ชั้นผิวหนังจะค่อยหดเข้าสู่ระยะพัก จึงดันให้ตอผมหลุดออกมา ส่วนรากผมนั้นจะหลับพักผ่อนไปเป็นเวลา 3-4 เดือนโดยไม่ผลิตผมใหม่ ในระยะนี้ผมจะทะยอยกันร่วง อาจมีผมในส่วนที่ไม่ได้ปลูกร่วงด้วยเนื่องจาก stress จากการผ่าตัด #อย่าตกใจ รากผมจะเข้าสู่ระยะพักแล้วค่อยๆ ผลิตผมใหม่ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า


วันที่ 15-30
ช่วงนี้อาจเริ่มมีอาการคัน ทั้งแผลผ่าตัดด้านหลังและด้านหน้าที่ปลูก สำหรับ FUE อาจมีอาการเจ็บเหมือนเข็มแทงในเวลานอน #อย่าตกใจ สิ่งเหล่านี้เกิดจากปลายประสาทกำลังฟื้นตัว ท่านสามารถปรึกษาเข้ามาเพื่อขอคำแนะนำในการประคับประคองอาการ อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเองใน 2-4 สัปดาห์ สำหรับ FUT ในช่วงนี้อาจพบว่าแผลผ่าตัดด้านหลังมีผมร่วงและแหว่งหายไป ผิวเป็นมันวาวตามแนวแผลผ่าตัดเหมือนไม่มีรูขุมขน #อย่าตกใจ สิ่งนี้คืออาการ shock loss ซึ่งเกิดได้ เป็นผลจากการผ่าตัดและยาชา ผมจะขึ้นมาเต็มพื้นที่ 100% ในเวลา 4-6 เดือน


เดือนที่ 1
ผมที่ปลูกจะร่วงไปหมด ผิวที่เห็นตรงตำแหน่งปลูกจะมีลักษณะมันวาวคล้ายเปลือกส้ม และไม่มีผมขึ้น #อย่าตกใจ สิ่งนี้คือการคั่งอยู่ของน้ำเหลืองซึ่งรอระบาย สีผิวอาจจะชมพูเล็กน้อย ซึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นเองใน 2-3 เดือน ผมที่ปลูกจะยังไม่ขึ้นในช่วงนี้ ยังอาจมีสิว หรืออาการตึงๆ ทั้งด้านที่ปลูกและด้านหลัง แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง ย้ำว่าผมควรจะต้องร่วงไปหมด (ยกเว้นขมับอาจมีบ้างที่ยาวต่อไปเลย) หากยังเหลือตอ ให้ถูนวดเบาๆ เวลาสระเพื่อให้ตอหลุดออกไปหมด

เดือนที่ 2-3 
ผมที่ปลูกไม่ขึ้น ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ท่านจะกังวลมากในช่วงนี้ จะเฝ้าถามย้ำว่าผิดปกติหรือไม่ #อย่าตกใจ นี่เป็นสิ่งที่เราพบเป็นประจำ แนะนำให้คลายกังวลใจได้ เพราะเป็นขั้นตอนปกติ รากผมจะหลับพักและไม่ผลิตเส้นผมออกมาให้เห็นในช่วงนี้ ระยะพักกินเวลา 3-4 เดือน หากท่านยังไม่สบายใจ สามารถเข้ามาพบและพูดคุยกับแพทย์ได้ แต่ไม่มีการรักษาอะไรที่จำเป็น ต้องรออย่างเดียว

เดือนที่ 4-5
ตอผมอ่อนๆ จะเริ่มขึ้นมาให้เห็น แต่เป็นแค่ลูกผมเท่านั้น ในช่วงนี้อาจมีสิวอักเสบหรือขนคุด
และมีอาการคันจากการที่รากผมเริ่มกลับมาผลิตเส้นผม แนะนำให้รักษาประคับประคองด้วยการทายาแก้สิว แต่ถ้ามีสิวมากเป็นตุ่มหนองหลายตุ่มอาจจะต้องรับยาแก้อักเสบ ปกติเราจะนัดท่านในช่วงนี้เพื่อมาดูอาการสิวว่ามากน้อยอย่างไร แต่หากไม่สะดวก ส่งรูปและเล่าอาการเข้ามาได้ค่ะ ในช่วงนี้หลายท่านจะรู้สึกวิตก ว่าทำไมผมขึ้นแค่นี้ ปลูกผมแล้วได้แค่นี้? ผมขึ้นจริงรึเปล่า? #อย่าตกใจ เป็นสิ่งที่เราพบเป็นประจำ แนะนำให้คลายกังวลได้ เพราะเป็นขั้นตอนตามปกติ
ในช่วงเวลานี้ผมเพิ่งเริ่มขึ้นเท่านั้น ยังเป็นต้นอ่อน ต่อไปจะดก หนา และสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ ต้องใช้เวลา หากท่านยังไม่สบายใจสามารถเข้ามาพบและพูดคุยกับแพทย์ได้ แต่ไม่มีการรักษาอะไรที่จำเป็น ต้องรออย่างเดียว

เดือนที่ 6-8
ผมค่อยๆ หนาขึ้น เข้มขึ้น แต่ยังไม่แน่น ในช่วงนี้หลายท่านจะรู้สึกวิตก ว่าทำไมผมขึ้นแค่นี้ ปลูกผมแล้วได้แค่นี้? ผมขึ้นจริงรึเปล่า? #อย่าตกใจ เป็นสิ่งที่เราพบเป็นประจำ แนะนำให้คลายกังวลได้ เพราะเป็นขั้นตอนตามปกติ
ผมที่ขึ้นมาแล้วจะค่อยอ้วนใหญ่ขึ้นจากโคน ต้องใช้เวลา ผลลัพธ์เต็มที่นั้นพิจารณาที่ 12-18 เดือน หากท่านยังไม่สบายใจ สามารถเข้ามาพบและพูดคุยกับแพทย์ได้ แต่ไม่มีการรักษาอะไรที่จำเป็น ต้องรออย่างเดียว ในช่วงนี้ อาการชา อาการคัน ผมแหว่ง ผมบางที่ท้ายทอยจะดีขึ้นแล้ว ศัลยกรรมปลูกผมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาผลลัพธ์ อาจไม่ทันใจท่านผู้รับบริการในแง่ความรวดเร็ว แต่ผลที่ได้นั้นอยู่คงทนกว่าศัลยกรรมตกแต่งชนิดอื่นๆ เป็นเรื่องปกติที่หลายท่านอาจมีความกังวลใจ เห็นผลลัพธ์ไม่ทันใจ ไม่เหมือนที่เห็นเคสจ้างรีวิวในอินเตอร์เนต เราพร้อมให้คำแนะนำและดูแลหากท่านมีอาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ดังรายการข้างต้น ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ และสามารถเข้ามาพบพูดคุยกับแพทย์ได้เสมอ

Author

DR. KULAKARN AMONPATTANA, MD FISHRS FRCST
พญ.กุลกานต์ อมรพัฒนา