ภาวะผมบางและผมร่วงในผู้หญิง

อาการผมร่วงนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะในผู้ชาย แต่เกิดกับผู้หญิงได้เช่นเดียวกัน ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงส่วนใหญ่จะกังวลกับเรื่องผมบางมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ เพราะเวลาที่ผู้หญิงมีอาการผมร่วงจะสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เฉพาะผู้หญิงส่วนใหญ่ไว้ผมยาวและจัดแต่งทรงผมแทบทุกวัน
หมอเชื่อว่าผู้หญิงหลายคนคงจะต้องเคยประสบเหตุการณ์ที่อยู่ๆ ผมก็ร่วงเยอะมากผิดปกติ เช่น ผมร่วงเต็มตัวหลังจากสระผม ผมร่วงจนท่อน้ำตัน ตอนกวาดห้องหรือดูดฝุ่น เวลาเก็บที่นอนก็เห็นผมของตัวเองที่ร่วงออกมา
ในบทความนี้ หมอจะขอสรุปสาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงเฉียบพลันและเรื้อรังได้ในผู้หญิง

ภาวะซีด

เนื่องจากเส้นผมเป็นอวัยวะที่ต้องการพลังงานและออกซิเจนในการที่จะทำให้ผมงอกต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเกิดภาวะซีด ไม่ว่าจะเป็นจากการเสียเลือดเรื้อรัง การขาดธาตุเหล็ก ภาวะซีดจะทำให้วงจรของเส้นผมผิดปกติ และทำให้เกิดการผมร่วงมากขึ้น โดยภาวะซีดอาจพบได้ในผู้ที่มีประวัติประจำเดือนมามากผิดปกติ ริดสีดวงทวารทำให้ถ่ายปนเลือด ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติหรือทานเจอย่างเคร่งครัด

ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์

ฮอร์โมนไทรอยด์เป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อระบบการเผาผลาญของร่างกายรวมไปถึงระบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ที่สูงเกินไปหรือต่ำเกินไป จะส่งผลให้การสร้างเส้นผมผิดปกติ และก่อให้เกิดภาวะผมบางได้

ภาวะขาดวิตามินดี

 ด้วยความที่ค่านิยมของคนไทยเรานั้นอยากมีผิวขาวและด้วยสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อน ทำให้คนส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด ไหนจะชีวิตที่ต้องทำงานหนัก บางคนเข้างานแต่เช้า เลิกงานก็เย็นแล้ว ไม่มีเวลาออกไปรับแสงแดดเลย ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ขาดวิตามินดีได้ อย่างไรก็ตามวิตามินดีไม่ควรซื้อรับประทานเองโดยไม่เจาะเลือดตรวจระดับก่อน เนื่องจากหากรับประทานมากไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

โรคภูมิต่อต้านตัวเอง

โรคภูมิต่อต้านตัวเอง เช่น โรคพุ่มพวง สามารถมาด้วยอาการผมร่วงทั่วๆ ศีรษะได้เช่นเดียวกัน แต่มักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวดข้อ ข้อบวมแดงร้อน ปัสสาวะมีฟอง มีผื่นแพ้แสง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว

ผมบางจากพันธุกรรม

ผมบางจากพันธุกรรมนั้นจริงๆ แล้วสามารถเกิดกับใครก็ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีคนในครอบครัวที่มีภาวะผมบางเลย แต่ในบางคนก็โชคดีไม่ดี เป็นเพียงคนเดียวที่มีภาวะผมบางในครอบครัว โดยภาวะผมบางในผู้หญิงมักจะบางที่กลางหนังศีรษะโดยที่แนวผมด้านหน้ามักจะปกติไม่ได้ร่นเข้าไปแบบในผู้ชาย ในบางรายที่โรคมีความรุนแรง ผมด้านข้างก็อาจจะบางไปด้วย

การรับประทานยาที่กระตุ้นให้เกิดอาการผมร่วงเป็นเวลานาน

การรับประทานยาบางอย่างเป็นเวลานาน เช่น ยารักษาสิว (Isotretinoin) หรือยากลุ่มกรดวิตามินเอ อาจทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ในบางคน แต่พอหยุดยาแล้วก็จะดีขึ้น ดังนั้นเวลาปรึกษาแพทย์เรื่องผมบางควรแจ้งแพทย์เรื่องอาหารเสริมและยาที่รับประทานเป็นประจำด้วย

จริงๆ แล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะผมบางในผู้หญิงก็ยังมีอีกหลายอย่าง หากสังเกตว่าผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน (ในวันที่ไม่สระผม) หรือมากกว่า 200 เส้นต่อวัน (ในวันที่สระผม) ควรรีบปรึกาแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง